ว่าด้วยเรื่องของ...ปลาทู
ปลาในแผ่นดินไทยมีครบอุดมสมบูรณ์แต่โบราณ ในบรรดาฝรั่งต่างชาติที่บันทึกเรื่องราวอาหารการกินของคนไทยไว้ เห็นจะไม่มีใครวิเศษเท่าลาลูแบร์ ในหนังสือเรื่อง พระราชอาณาจักรสยาม ดังตอนหนึ่งกล่าวว่า"ไม่มีชนใดจะสมถะเสมอด้วยชาวสยาม ชาวบ้านดื่มกันแต่น้ำเปล่า จะอยู่อย่างมีความสุขด้วยอาหารการกินง่ายๆ เพียงข้าวเปล่ากับปลาแห้ง หรือปลาเค็มตัวเล็กๆ อาจมีเครื่องจิ้มบ้าง ปลานั้นชุกชุมมากเหลือเกิน จับชั่วโมงหนึ่งพอกินไปได้หลายวัน มีมากทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม เต่าตัวย่อมๆ กุ้งขนาดต่างๆ หอยนางรมก็มีมาก และผลไม้นานาชนิดมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์คนไทยรู้จักและกินปลาทูมาช้านานแล้ว แต่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร อัตนเก่าแก่ที่สุดที่หาได้ในขณะนี้กลับมีอายุเยาว์เพียง 125 ปีเท่านั้นคือ หนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ฉบับหมอบรัดเล" ตีพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 โดยเขียนว่า" ปลาทู, เป็นปลาอยู่ทะเลน้ำเค็มมีเกล็ด, ตัวมันกว้างศักสองนิ้ว, ยาวศักสิบนิ้ว" และ "ปลาลัง,ตัวมันเหมือนปลาทู, แต่เล็กกว่าปลาทู, อยู่น้ำเค็มในทะเลมีเกล็ดหนืดๆ"ปลาทูเป็นปลาทะเลที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ทั้งยังมีคุณค่าสารอาหาร โดยเฉพาะกราดไขมันโอเมก้า 3 สูง การเลือกซื้อปลาทูให้ได้ปลาสด สังเกตที่ลูกตานูน ตาดำสีสดใส ส่วนหลังมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องมีสีขาวเงิน หางปลามีสีเหลือง ลำตัวมีเมือกลื่นๆจับทั่วตัว เหงือกสีแดงอมชมพู ไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่หลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิม ส่วนการเลือกซื้อปลาทูนึ่ง ให้เลือกดูปลาที่มีกลิ่นหอม เพราะปลาทูที่ต้มสุกใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมน่ากิน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่น ไม่เละ ท้องและหนังปลาไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดงและเหลืองแสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดีปลาทูนึ่ง มีกรรมวิธีการทำที่ไม่ใช่การนึ่ง แต่เป็นการต้มหรือลวก โดยบรรจุปลาใส่เข่งไม่ไผ่ จากนั้นนำเข่งเรียงลงในกระชุ (เข่งไม้ไผ่สานตาห่างๆ ทรงสูง ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เส้นผ่าศูนย์กลางสักประมาณ 1-2 ฟุต) จนเต็ม แล้วนำกระชุปลาลงไปแช่ในกระทะใบบัวก้นลึก ที่มีน้ำเกลือต้มเดือดปุดๆ แช่ไว้สักประมาณ 3-5 นาที ถ้าปลาตัวเล็ก 3 นาทีก็ยกขึ้นได้ ต้องกะเวลาต้มให้พอดี ถ้าต้มนานเกินไปเนื้อปลาจะแตกไม่น่ากิน ก่อนจะยกกระชุปลาขึ้น จะต้องตักน้ำเกลือราดบนเข่งปลาทูอีกครั้งเพื่อให้ความชุ่มของเนื้อปลาทูยังคงอยู่ ปลาทูไม่ติดกับเข่ง เวลาต้มต้องอย่าใช้ไปแรง เพื่อให้ปลาสุกข้างนอกแล้วระอุไปถึงเนื้อปลา ปลาทู...ประโยชน์เหนือราคา
ปลาทูเป็นอาหารทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทปลาผิวน้ำ สีของลำตัวด้านบนหลังเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว ด้านท้องเป็นสีขาวเงิน คนไทยนิยมบริโภคปลาทูตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเพราะราคาถูก เมื่อเทียบกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ทำอาหารได้หลายอย่าง ย่อยง่าย รสชาดดี โดยเฉพาะปลาทางแถบจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงครามและเพชรบุรี เพราะมีความมันมาก รสอร่อยกว่าปลาทูจากแหล่งอื่นๆปลาทู เป็นปลาไทยแท้ไม่มีเชื้อสายจีนหรือแขกเจือปน เพราะมันเกิดที่อ่าวไทยแล้วก็ตาย ที่อ่าวไทย พูดง่าย ๆ ก็คือ จะพบปลาทูเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ยังไม่มีใครเคยพบปลาทู ที่อเมริกา หรือทะเลอื่น ๆ เลยทั่วโลก ทำไมปลาทูจึงจงใจมาอยู่เมืองไทย คุณวิไลกุล ระตินัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาทู ไม่ได้เขียนบอกไว้ บอกเพียงแต่ว่า ในเดือนธันวาคมถึงมกราคมจะพบปลาทูตัวยังเล็กมากขนาดปลาซิวอยู่บริเวณจังหวัดชุมพร ปลาทูค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมาถึงหัวหินและจะโตเต็มที่เมื่อถึงอ่าวแม่กลอง ปลาทูไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย ชอบว่ายน้ำเรียบชายอ่าวไปเรื่อย ๆ ผ่านปากน้ำเจ้าพระยา ถึงตอนนี้มันจะมีไข่เต็มท้อง ก็อยู่ในระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ใครชอบกินปลาทูเริ่มมีไข่ก็ต้องกินระหว่างเดือนที่ว่านี้แหละ พอปลาทูเริ่มมีไข่ในท้อง ปลาทูจะมีน้อยลง เพราะส่วนหนึ่งจะแอบไปหาปะการังเพื่อวางไข่ แต่บางคนก็ว่า เหตุที่ปลาทูมีน้อยลง อาจเป็นเพราะถูกคนจับมากินมากขึ้นก็ได้ ปลาทูมีชีวิตวนเวียน อยู่แต่ในอ่าวไทย บางปีก็มีมาก บางปีก็มีน้อย แต่ก็ไม่ต้องห่วงเพราะปลาออกลูกออกหลาน ได้ครั้งละเป็นหมื่น ๆ ตัว(ไมตรี ลิมปิชาติ)จากหลักฐานทางด้านวิชาการของกองประมงทะเล พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นก้นอ่าวไทย จึงมีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงมีผลทำให้ปลาทูเหล่านี้มีสารอาหารต่างๆอยู่ในตัวมาก และประกอบกับปลาทูจะวางไข่บริเวณฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะอพยพมาที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ในช่วงสิงหาคม-ธันวาคม ดังนั้นปลาทูในช่วงนี้มีราคาถูกเพราะมีมาก รสอร่อย และเป็นปลาทูตัวโต หรือปลาทูสาว
ปลาทูเป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างดี จะเห็นได้ว่า ในปลาทูสด 100 กรัม มีคุณค่าทางสารอาหารดังนี้..
พลังงาน 140 แคลอรี่ โปรตีน 20 กรัม ไขมัน 6.7 กรัม แคลเซียม 170 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม เหล็ก 11.9 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.62 มิลลิกรัม ไนอะซิน 9.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 9.2 มิลลิกรัม
เนื่องจากปลาทูมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับปลาอีกหลายๆ ชนิด โอกาสซื้อผิดมีมาก จึงขอแนะนำเพื่อเป็นข้อสังเกตดังนี้1. ปลาทู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrlliger neglectus หรือ ปลาทูสั้น ปลาทูเตี้ย แล้วแต่บางพื้นที่ เพราะลักษณะของลำตัวกว้าง แบน ป้อม สั้น ตาเล็ก ปากแหลมมน ไม่มีลายข้างตัว 3 เส้น ด้านบนของลำตัวมีสีน้ำเงินแกมเขียว ถ้าเป็นปลาสดจะมีสีน้ำเงินเข้มพาดตามยาวของลำตัว เนื้อปลาทูจะละเอียด นุ่ม มีมันมาก รสอร่อย
2. ปลาลัง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger Kanagurta หรือ ปลายาว ปลาทูโม่ง หรือปลาโม่ง เพราะลำตัวกลม เรียวกว่าปลาทู ตาโต ปากแหลม ลำตัวด้านหลังมีแถบสีเขียวแกมน้ำตาล 2-3 แถบพาดตามยาว เนื้อหยาบ มันน้อย รสไม่อร่อย ราคาถูกกว่าปลาทู
3. ปลาทูปากจิ้งจก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger faughni ลักษณะลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาลัง แต่มีขนาดความยาวเท่าปลาทู ความกว้างของลำตัวน้อยกว่าปลาลัง ปากแหลม ด้านบนลำตัวมีสีน้ำเงิน แวววาว ด้านท้องมีสีขาวเงิน เนื้อหยาบ มันน้อย รับประทานไม่อร่อย (ผู้ขายมักเอามาขายรวมกับปลาทู)
4. ปลาทูแขก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Decapterus macrosoma ลักษณะคล้ายปลาทูปากจิ้งจก แต่มีเกล็ดหนามแข็งที่โคนหาง แนวเส้นข้างตัวโค้งลาด ลำตัวเรียวยาว แต่หนา มองดูค่อนข้างกลม ด้านหลังมีสีน้ำเงินแกมเขียว ท้องสีขาวเงิน ครีบสีขาวใส เนื้อหยาบ มันน้อย ปัจจุบันนิยมนึ่งแทนปลาทู หรือทำปลากระป๋อง
5. ปลาทูแขกครีบยาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Decapterus maruadsi ลัษณะคล้ายปลาทูแขก แต่ลำตัวกว้างกว่า จึงมองดูแบน ตาค่อนข้างโต เนื้อแข็ง หยาบ รับประทานไม่อร่อย
การเลือกซื้อปลาทูนึ่งนั้น ให้พิจารณาดังนี้ ตัวจะสั้น ป้อม แบน ตาใส สีของปลาจะใส ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว หรือสีขาวของส่วนล่างก็ตาม กด เนื้อจะนิ่ม มีมันสีเหลืองเยิ้มอยู่ตามตัว ถ้าเนื้อแข็งแสดงว่าปลาไม่สด และเค็มเกินไป
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาทู
วิธีการเลือกปลาทูนึ่ง ปลาทูที่นึ่งใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก จึงต้องมีการใช้น้ำยาเคมีรักษาสภาพของปลา ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย ถ้าใช้ปลาทูไม่สด ไม่ใช่ปลาทูโป๊ะ จะไม่อร่อยเท่าปลาทูแม่กลองที่เวลานึ่ง คนทำจะหักคอก่อนใส่เข่ง เพื่อให้พอดีกับขนาดของเข่ง เรียกกันว่า “ปลาหน้างอคอหัก”
วิธีเลือกปลาทูสด ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด ส่วนปลาทูที่ไม่สดลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคลั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลวและไม่มีเมือกจับ
ซื้อปลาแบบไหนถึงจะอร่อย หลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5 – 10 นาที ปลาก็จะตาย ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ แค่เห็นก็อร่อยแล้ว แต่ปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่ใช่ปลาทูสด 100% เป็นปลาทูที่ต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาก็ลดลงเหลือ 60 – 80% ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้ว อาจเก็บมาเป็นอาทิตย์ก็ได้ อนึ่งปลาทูจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่นชิมรสเนื้อปลา ซึ่งถือว่าปลาที่มีความสดมากนั้น จะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนรับประทาน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้างไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย