2008-10-23

ชวนกันกินผัก

อาหารพวก "ผัก" ไม่เพียงแต่รับประทานแล้วอร่อยและอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางยาแอบแฝงอยู่อีกด้วย ผักเป็นอาหารที่มีคุณค่ามากชนิดหนึ่ง เพราะมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการ เช่น เกลือแร่ วิตามิน อยู่เป็นจำนวนมาก สารบางอย่างจะมีเฉพาะในผักเท่านั้น สิ่งสำคัญที่พบมากในผักทุกชนิดคือ "กากใย" (Fiber) ซึ่งเป็นส่วนที่ย่อยไม่ได้และไม่ให้พลังงาน กากใยมีประโยชน์อย่างไร
1. ช่วยลดความอ้วนเพราะให้พลังงานน้อย และจะเข้าไปแย่งพื้นที่ในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้เรารู้สึกอิ่มได้เร็วและอิ่มได้นาน ช่วยลดความอยากอาหารลงไป เราสามารถลดพลังงานที่จะได้รับจากอาหารได้จึงส่งผลให้ลดน้ำหนักได้
2. ลดอัตราการดูดซึมของน้ำตาล จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จนสามารถช่วยลดการใช้ปริมาณอินซูลินในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และยังค้นพบอีกว่าคนที่รับประทานใยพืชมากๆ จะช่วยลดโอกาสการเป็นเบาหวาน
3. ช่วยลดการดูดซึมไขมันและโคเลสเตอรอล
4. กระตุ้นลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น ทำให้ท้องไม่ผูก อีกทั้งยังช่วยลดการเก็บกักของเสียในร่างกาย ลดการหมักหมมของเสียในลำไส้ ลดโอกาสการดูดซับสารพิษจากของเสียเข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญมันช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
5. ลดอัตราเสี่ยงจากไขมันอุดตันหลอดเลือด และช่วยลดความดันโลหิต มีรายงานการศึกษาวิจัยจากวารสาร Archives of Internal Medicine พบว่าคนที่ชอบรับประทานอาหารพวกผักหรือเมล็ดธัญญพืชมากๆ มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ชอบรับประทานพวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพในด้านลดความดันโลหิตลงมา ซึ่งจะส่งผลให้ลดอาการป่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวาย เป็นต้น
6. ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ผักชนิดต่างๆ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนออกมาให้เรากินกันตลอดทั้งปี ซึ่งผักตามฤดูกาลนั้น มีคุณภาพ อร่อย ราคาถูกตัวอย่างผักตามฤดูกาลที่มาแนะนำกันเพื่อสุขภาพ
มกราคม เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดหัว(หัวไช้เท้า) มะเขือเทศ ถั่วลันเตา คะน้า ข้าวโพดฝักอ่อน ฟักทอง ผักกาดขาว
กุมภาพันธ์ เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว(หัวไช้เท้า) ผักบุ้งจีน บวบ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
มีนาคม เช่น ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน บวบ คะน้า ฟักเขียว ฟักทอง
เมษายน เช่น ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน บวบ คะน้า ฟักทอง
พฤษภาคม เช่น มะระจีน ชะอม ฟักทอง ผักบุ้งจีน ช้าพลู บวบ มะนาว ถั่วฝักยาว
มิถุนายน เช่น มะนาว มะระจีน บวบ ถั่วฝักยาว กุยช่าย ชะอม ผักบุ้งจีน ช้าพลู ยอดตำลึง
กรกฎาคม เช่น สะตอ ถั่วฝักยาว ยอดตำลึง ชะอม กุยช่าย มะระจีน มะนาว ช้าพลู บวบ
สิงหาคม เช่น ยอดตำลึง ข้าวโพดฝักอ่อน กุยช่าย บวบ มะระจีน สะตอ ชะอม ถั่วฝักยาว
กันยายน เช่น ชะอม ยอดตำลึง กุยช่าย ถั่วฝักยาว บวบ มะระจีน ข้าวโพดฝักอ่อน
ตุลาคม เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว(หัวไช้เท้า) คะน้า กะหล่ำดอก มะระจีน พฤศจิกายน เช่น คะน้า มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักกาดขาว แครอท ฟักทอง กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว(หัวไช้เท้า)
ธันวาคม เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน แครอท ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ผักกาดหัว(หัวไช้เท้า) คะน้า กะหล่ำดอก มะเขือเทศ ฟักทอง

การรับประทานพืชผักตามธาตุเจ้าเรือนในทฤษฎีแพทย์แผนไทย
พืชผักสำหรับคนธาตุดิน คือ คนที่เกิดเดือน 11 12 และ 1 หรือเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม รสฝาดหวาน มัน และเค็ม เช่น ถั่วต่างๆ เผือก หัวมันเทศ ฟักทอง กล้วยดิบ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะยม สมอไทย กระถินไทย ผักหวาน ขนุนอ่อน สะตอ ผักโขม โสน ขจร ผักเซียงดา ลูกเนี่ยงนก บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม เป็นต้น
พืชผักสำหรับคนธาตุน้ำ คือ คนที่เกิดเดือน 8 9 10 หรือ หรือเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน
รสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะยม มะกอก มะดัน กระท้อน ชะมวง ผักติ้ว ยอดมะกอก ยอดมะขาม มะอึก มะเขือเครือ มะแว้ง เป็นต้น พืชผักสำหรับคนธาตุลม คือ คนที่เกิดเดือน 5 6 7 หรือเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน

รสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะทือ ดอกกระเจียว ขมิ้นชัน ผักคราด ช้าพลู ผักไผ่ พริกขี้หนู สะระแหน่ หูเสือ ผักแขยง ผักชีลาว ผักชีล้อม ยี่หร่า สมอไทย กานพลู เป็นต้นพืชผักสำหรับคนธาตุไฟ คือ คนที่เกิดเดือน 2 3 4 หรือเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม รสขม เย็น และจืด เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักกระสัง สายบัว ผักกาดจีน มะระ ผักปรัง มะรุม มะเขือยาว กระเจี๊ยบมอญ สะเดา ยอดฟักทอง มะเขือยาว กุยช่าย ฟักแฟง แตงทั้งหลาย

ทุกคนควรรับประทานอาหารและพืชผักหลากรสเพื่อบำรุงธาตุทั้ง 4 แต่ต้องเน้นธาตุเจ้าเรือนและธาตุที่เป็นจุดอ่อนสำหรับตัวเรา ซึ่งอาหารไทยนั้นมีหลายรสและสามารถปรับให้สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือนหรืออาการของโรคได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอาหารไทยได้รับความนิยมไปทั่วโลกก็เพราะรสอันหลากหลายและมีสรรพคุณด้วย เช่น
รสฝาด มีสรรพคุณแก้ในการสมานแผล แก้ท้องร่วง บิด บำรุงธาตุ เช่น ยอกจิก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดฝรั่ง ผักกระโดน ยอดเสม็ด เป็นต้น

รสหวาน มีสรรพคุณซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้ชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย แต่ทานมากเกินไปจะแสลงโรคเบาหวาน เสมหะเฟื่อง แสลงบาดแผล เช่น เห็ด หน่อไม้ ผลฟักข้าว ผักขี้หูด เป็นต้น

รสมัน มีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น บำรุงเยื่อกระดูก เป็นยาอายุวัฒนะ เช่น สะตอ เหนียง บัวบก ขนุนอ่อน ถั่วพู ฟักทอง เป็นต้น รสเปรี้ยว มีสรรพคุณแก้ทางเสมหะ ฟอกโลหิต ระบาย เช่น ยอดมะขามอ่อน ยอดชะมวง มะเฟือง มะเขือเทศ เป็นต้น

รสขม มีสรรพคุณบำรุงโลหิตและน้ำดี เช่น มะระขี้นก ยอดหวาย ดอกขี้เหล็ก ใบยอ สะเดา ผักโขม ยอดมะรุม เป็นต้นรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณแก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม บำรุงธาตุ เช่น ใบแมงลัก ใบโหระพา ใบช้าพลู ขิง ข่า ขมิ้น เป็นต้น

ที่มา :: นิตยสารหญิงไทย