ตำรับอาหารไทยเพื่อสุขภาพ
ตำรับอาหารไทยเพื่อสุขภาพที่จะนำเสนอมี 3 ตำรับคือ ข้าวยำ ห่อหมกปลา และแกงป่า โดยความเป็นจริงแล้วยังมีตำรับอาหารไทยเพื่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากที่มีคุณค่าอันยังประโยชน์ใหญ่หลวงต่อสุขภาพ
ข้าวยำ
เป็นอาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างมาก ให้โปรตีนสูงแต่ไขมันน้อย เป็นอาหารที่ให้ธาตุเหล็กสูงมาก และยังให้วิตามินเอและวิตามินบี 1 สูงเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเป็นอาหารบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง และบำรุงโลหิต ข้าวยำเป็นอาหารที่มีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินของชาวใต้ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือ "น้ำบูดู" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการปรุงแต่งรสอาหารของชาวใต้ โดยเป็นการนำเอาพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นเครื่องปรุงที่มีคุณค่าอาหารสูง และเป็นความชาญฉลาดที่นำเอาสมุนไพรพื้นบ้านมาปรุงเป็นยาแต่อยู่ในรูปของอาหาร
ห่อหมกปลา
เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่ให้โปรตีนและไขมันน้อย เป็นอาหารที่ให้ธาตุแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ ประกอบด้วย เครื่องปรุงสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยให้มีคุณค่าอาหารสูง สรรพคุณทางยาของห่อหมกปลาส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรุงสมุนไพร เช่น กระชาย กระเทียม ใบยอ ข่า ตระไคร้ โหระพา พริก รากผักชี ทำให้เป็นอาหารที่บำรุงธาตุ บำรุงกระดูก เจริญอาหาร ขับลม ขับเหงื่อแก้จุกเสียด ช่วยลดความดันโลหิตสูง ทางด้านภูมิปัญญานั้น คือ เป็นการนำเอาเครื่องปรุงสมุนไพรหลากรสมารวมกับกะทิและเนื้อปลา กลายเป็นยาในรูปแบบของอาหารที่มีคุณค่าสูง และยังมีศิลปะในการนำใบตองมาห่อแทนการใช้ภาชนะ เพิ่มกลิ่นรส ร่วมกับใบยออ่อนที่ใช้รอง เป็นการผสมผสานการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยแท้
แกงป่า
เป็นอาหารที่ให้พลังงานและไขมันต่ำ แต่ให้กากและใยอาหารสูงมาก ให้แร่ธาตุและวิตามินสูงเกือบทุกชนิด ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยลดความดันโลหิต ฆ่าพยาธิและเชื้อแบคทีเรีย แกงป่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด โดยการนำผักพื้นบ้านและสมุนไพรหลากหลายชนิดมาปรุงอย่างง่าย ๆ แต่ได้รสกลมกล่อม เป็นการปรุงยาให้อยู่ในรูปอาหารที่อร่อยมาก
จะเห็นได้ว่าอาหารไทยมีคุณลักษณะพิเศษ อย่างน้อยสามารถจำแนกตามการใช้ประโยชน์ หรือตามคุณค่าได้ถึง 3 ด้าน คือ ด้านคุณค่าทางอาหารและโภชนาการ ด้านคุณค่าทางยาและสมุนไพร และด้านคุณค่าทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารเลี้ยงประชากรโลกรายใหญ่ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจาก อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส อาหารไทยจึงควรมีบทบาทอย่างสูงในสังคมโลก ไม่เพียง แค่ขายอาหารในด้านคุณค่าทางโภชนาการ แต่ควรนำจุดเด่นคุณค่าอีก 2 ด้าน คือ ค้านคุณค่าทางยาและภูมิปัญญามาเป็นจุดขายเพื่อเพิ่มมูลค่าและความนิยมให้กับอาหารไทยมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้อย่างสง่างาม